ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
"...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2523
ณ โรงแรมรินคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ผลดีของ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
พอกิน คือ การปลูกต้นไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น แค มะรุม ทุเรียน สะตอ ผักหวาน ฝาง แห้ม กล้วย ฟักข้าว ไม้ผลต่าง ๆ
พอใช้ คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้ สำหรับทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน อาทิ ทำฟืน เผาถ่าน ทำงานหัตถกรรม หรือทำน้ำยาซักล้าง ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น มะคำดีควาย หวาย ไผ่ หมีเหม็น
พออยู่ คือ การปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้กลุ่มนี้เป็นไม้อายุยืนเพื่อใช้สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน ต้นไม้กลุ่มนี้ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา สัก พะยูง พยอม
พอร่มเย็น คือ ผลที่เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และฉ่ำเย็นขึ้นมา
กระแสพระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์ดิน น้ำ และการฟื้นฟู
ทรัพยากรป่าไม้ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจด้วยการจำแนกป่า ๓ อย่างคือ
1) ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็วสำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไม้ไผ่
2) ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น มะม่วง และผักกินใบต่าง ๆ
3) ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขายหรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก
ประโยชน์ 4 อย่าง จำแนกประโยชน์ แต่ละอย่างออกเป็น
1) ป่าไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรม หรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน) ในการหุงต้ม
2) ป่าไม้กินได้ นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร
3) ป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน
4) ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในสวน ช่วยป้องกันผิวดินให้ชุ่มชื่นดูดซับน้ำฝนและค่อย ๆ ปลดปล่อยความชื้นสู่สวนเกษตรกรรม
การปลูกป่า 5 ระดับแบบกสิกรรมธรรมชาติ
ประกอบด้วยต้นไม้หลากหลายชนิดพันธุ์ โดยเราสามารถจัดแบ่งตามระดับช่วงความสูงและระบบนิเวศได้ 5 ระดับ ดังนี้
- ไม้สูง เป็นกลุ่มไม้เรือนยอดสูงสุดและอายุยืน ไม้ในระดับนี้ เช่น ตะเคียน ยางนา เต็ง รัง
- ไม้กลาง เป็นกลุ่มต้นไม้ที่ไม่สูงนัก ไม้ในระดับนี้ ได้แก่ บรรดาไม้ผลที่เก็บกินได้ เช่น มะม่วง ขนุน มังคุด กระท้อน ไผ่ สะตอ
- ไม้เตี้ย เป็นกลุ่มต้นไม้พันธุ์พุ่มเตี้ย ไม้ในระดับนี้ เช่น พริก มะเขือ กะเพรา ติ้ว ผักหวานบ้าน เหลียง
- ไม้เลื้อยเรี่ยดิน ไม้ในระดับนี้เป็นตระกูลไม้ล้มลุกที่ทอดยอดเลื้อยได้ เช่น พริกไทย รางจืด ฟักทอง แตงกวา
- ไม้หัวใต้ดิน ไม้หัวอยู่ใต้ดิน ไม้ในระดับนี้ คือ มัน เผือก กลอย กวาวเครือ ขิง ข่า